000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > บทความ > เครื่องเสียงบ้าน > Sound Bar น่าเล่นไหม
วันที่ : 24/10/2016
7,871 views

Sound Bar น่าเล่นไหม

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

Sound Bar ก็คือตู้ลำโพงทรงยาวแนวนอน ผอมเพรียว มีดอกลำโพงสำหรับเสียงซีกซ้าย, ซีกขวา, ตรงกลาง อยู่ในตู้เดียวกันแบบเบ็ดเสร็จ จริงๆ คำว่า Sound Bar ตัว Bar น่าจะมาจาก ขนมที่ทำเป็นแท่งยาว เช่น ช็อกโกแลต (Chocolate Bar)

            ที่มา ลำโพง Sound Bar เกิดขึ้นมาเพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพเสียงให้แก่ทีวีจอแบน LCD, Plasma ทั้งหลาย จากสาเหตุที่มีความพยายามทำตัวจอให้บางที่สุด และขอบจอแคบที่สุด ทำให้เนื้อที่และปริมาตรของตู้ที่จะติดตั้งดอกลำโพงของจอ มีขนาดลดลงทุกวัน พร้อมกับสุ้มเสียงผอมบางลงเรื่อยๆ จนแทบมีแต่เสียงกลางสูงถึงสูง ทุ้มและสูงปลายๆ หายหมด ยิ่งจอที่มีขนาดเล็ก ปัญหาก็ยิ่งหนักหนาสาหัส เทียบกับเสียงทีวีจอแก้ว (CRT) ที่ตัวเครื่องทีวีเป็นตู้ขนาดกลางถึงใหญ่ ดอกลำโพงจึงมีตู้ที่ใหญ่พออย่างเหมาะสมที่จะตอบสนองได้ความถี่กว้างกว่ามาก (ทั้งทุ้มและปลายแหลม) เสียงก็กระหึ่มกว่าพวกจอแบน LCD, Plasma มาก

            Sound Bar จึงเกิดมาเพื่อตอบโจทย์นี้ แม้ตัวตู้ Sound Bar เองจะไม่ใหญ่โตมาก (เทียบกับตู้ลำโพง 2 ตู้ ซ้าย / ขวาปกติ) แต่ก็ใหญ่กว่าตู้ลำโพงของจอแบนมาก เสียงจึงควรจะดีกว่ามากด้วย

            ลักษณะ ตัวตู้ Sound Bar ทำเป็นทรงยาว ผอมเพรียว แนวนอน เล็งไว้ให้วางนอนอยู่ด้านขอบล่างของตัวจอ จึงต้องผอมไม่ใหญ่จนอาจบังจอได้

            ภายใน Sound Bar จะมีดอกลำโพงซีกซ้าย, ดอกลำโพง Ch กลาง, ดอกลำโพงซีกขวา บางรุ่นอาจมีดอกลำโพงมากกว่านี้ เพื่อปล่อยเสียงเสริมเช่น เสียงจาก Ch หลังซ้าย, จาก Ch หลังขวา ในระบบเซอราวด์ โดยอาจมีหรือไม่มีภาคขยาย 5CH ในตัว Sound Bar เอง (ใช้ภาคขยาย 5 CH ภายนอก) บางครั้งมีระบบซับวูฟเฟอร์ในตัว Sound Bar เองด้วย พร้อมภาคขยายเสียง

            Sound Bar รุ่นประหยัดสุดๆ จะมีแค่ตัวตู้กับดอกลำโพงต่างๆ ไม่มีดอกซับ ต้องอาศัยตัวถอดรหัสเสียงรอบทิศทางภายนอก และภาคขยายเสียง 5 CH ภายนอก ราคา Sound Bar พวกนี้จะไม่กี่พันบาท (4-5 พันบาท)

            Sound Bar รุ่นสูงขึ้นมา จะมีตัวตู้, ดอกลำโพงต่างๆ ยังไม่มีดอกซับ มีภาคขยายในตัว 5 CH และมีตัวถอดรหัสเสียงรอบทิศ (เซอราวด์) ในตัว อาจถอดแค่ Dolby Digital 5.1Ch มีช่องเสียงออกไปเข้าตู้ซับแบบ Active (มีภาคขยายในตัว) ภายนอก (ซื้อเพิ่มหรือมาเป็นชุดกับตู้ Sound Bar เลย) โดยช่องรับสัญญาณขาเข้าของ Sound Bar มีทั้งแบบอนาลอกปกติ (Aux In หรือ Line In), แบบดิจิตอล (ส่วนใหญ่เป็นแบบ Optic แสง, บางยี่ห้อเพิ่มแบบ Coaxial ไฟฟ้ามาด้วย) มีรีโมท

            รุ่นที่สูงหน่อย อาจถอดเสียงรอบทิศได้ทั้ง Dolby Digital 5.1 และ DTS 5.1CH , รุ่นสูงสุดจะรับพวกเสียง HD ได้ทั้งค่าย Dolby และ DTS แต่มักเป็นรุ่นแพงสุด มีรีโมทครบฟังก์ชัน อาจมีวงจรเพิ่มความกว้างสนามเสียง เพิ่มเน้นผลเซอราวด์

            บางท่านอาจงงว่า ลำโพง Sound Bar ตู้เดียว ไม่มีลำโพงหลังที่นั่งฟัง แล้วจะมีเสียงโอบวิ่งไปมารอบตัวเรา หรือมาจากด้านหลังอย่างเซอราวด์เต็มขั้นได้อย่างไร

            จริงๆ จะมีวงจรสังเคราะห์จำลองเซอราวด์ขึ้นมาจากสัญญาณ 5.1CH ที่ถอดออกมา เพื่อให้ฟังจากลำโพง 2CH ธรรมดา ได้เสียงเป็นรอบทิศได้ (บาง Sound Bar อาจไม่มีดอกลำโพงตรงกลาง (CENTER) ด้วยซ้ำ) จึงแน่นอนว่า ผลของเซอราวด์จำลองจะขึ้นอยู่กับ ตำแหน่งที่นั่งฟัง (ดู) อยู่ด้วย ไม่มากก็น้อย

            ผลการทำงาน จากประสบการณ์ของผู้เขียน มี Sound Bar หลากยี่ห้อ หลายรุ่นที่ให้ผลการแยกเสียงรอบทิศได้ค่อนข้างดีทีเดียว แม่นยำ ฟังออกว่า เสียงวิ่งวนอยู่รอบตัวเราได้จริง

            ในแง่ของ “สุ้มเสียง” แทบทุกรุ่น 99% มีข้อจำกัด บ้างก็จัดจ้าน บ้างก็อู้ก้อง รายละเอียดยังไม่ดีเท่าที่ควร ความเป็นธรรมชาติสมจริงยังได้แค่ 70% เป็นอย่างมาก

            ในด้านทรวดทรงเสียง (3D) ยังไม่น่าประทับใจ เสียงขาดตัวตน ออกแบนๆ ไม่โฟกัสนัก ยังมีวอกแวกบ้าง ยังไม่มีลำดับตื้น-ลึกของเวทีเสียง (perspective) เสียงมักวิ่งอยู่รอบๆ แต่ไม่กระเด็นหลุดลอยออกมาหาผู้ฟัง

            การระบุตำแหน่ง, ทิศทางเสียง, ความเป็นเซอราวด์จะได้ดีเฉพาะกับแผ่นทดสอบที่ผู้ขาย Sound Bar ยี่ห้อนั้นๆ ทำแผ่นมาโดยเฉพาะเท่านั้น เช่น ทำเป็นเสียงตีกลองวนรอบๆ ตัวเรา

            แต่พอฟังจากเสียงหนังแต่ละเรื่องจริงๆ จะพบว่า การแยกทิศทางจะดูสับสน มั่ว มากกว่า แม่น โดยเฉพาะด้านเสียงจากด้านหลังจะไม่ชัดเจนเอาเสียเลย สุ้มเสียงยิ่งแย่ลงไปอีก ขนาดเอามาฟังเพลงจาก CD (เลือกไปฟังก์ชัน 2CH Stereo) ก็ยังน่าผิดหวังมากกว่าน่าฟัง เหตุการณ์นี้เกิดกับ Sound Bar ทุกยี่ห้อ, ทุกรุ่นก็ว่าได้... ทำไม?

            คำตอบ (หรือมิใช่?)

            จากประสบการณ์การทดสอบ เครื่องรีซีฟเวอร์เซอราวด์ตลอด 30 ปีที่ผ่านมาพบว่า ภาพยนตร์แต่ละเรื่อง แต่ละ Ch จะให้การขยับของกรวยดอกลำโพงที่ต่างกัน แทบไม่มีเรื่องไหนเลยที่ทุก Ch จะขยับทิศเดียวกันหมด เช่น เรื่อง A เมื่อเลือก Dolby Digital 5.1CH พบว่า

            ดอกลำโพงเซ็นเตอร์ กรวยลำโพงขยับออกดันอากาศมาหาเราถูกต้อง

            ดอกลำโพงคู่หน้า กรวยลำโพงขยับหุบเข้าสวนทิศ

            ดอกลำโพงคู่หลัง กรวยลำโพงขยับออกดันอากาศมาหาเรา

            ดอกลำโพงซับ กรวยลำโพงขยับหุบเข้าตู้

            ภาพยนตร์เรื่อง B ดอกลำโพงของแต่ละ CH ก็ขยับต่างกันออกไปอีก

            พูดง่ายๆ ว่า เอาแน่ไม่ได้ ต้องฟังทดสอบเอา แล้ววิ่งไปสลับขั้วบวก, ลบสายลำโพงของ CH นั้นๆ ที่หลังแอมป์ ให้ทุก Ch ขยับดันอากาศออกมาหาเรา “เหมือน” กันหมด รวมทั้งดอกซับ (ตู้ซับ Active บางรุ่นมีสวิตซ์กดเลือกทิศขยับลำโพง (Phase Switch))

            แล้วเชื่อไหมว่า พอเลือกไปใช้วงจรถอดเซอราวด์เป็น DTS 5.1 บ่อยๆ ที่การขยับของดอกลำโพงแต่ละ CH ก็เปลี่ยนไปอีก

            ขณะที่แผ่นทดสอบ ช่วงทดสอบที่เป็นเสียงตีกลองวิ่งรอบตัวเรา เขาบันทึกมา การขยับของดอกแต่ละ Ch ตรงกันหมดกับ Sound Bar ของเขา ก็ไม่มีปัญหา แต่พอเอามาดูหนังจริงๆ ก็กลายเป็น นรกมีจริง

            พวกหูฟังเซอราวด์ที่มีกล่องวงจรสังเคราะห์ ก็จะพบปัญหาเดียวกันนี้แน่นอน

            วิธีแก้ ถ้าจะให้ดีที่สุด ต้องทำ Sound Bar ให้เราสามารถเลือกการขยับดอกลำโพง (เรียกว่าเลือกเฟส, Phase) ได้ทีละ Ch โดยฟังทดสอบไล่ดูก่อนกับหนังแต่ละเรื่องๆ

            ในด้านที่เสียงแบน ไม่มีทรวดทรง (ไม่ 3D) ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ Sound Bar ติดตั้งดอกลำโพงหันหน้าตรงไม่ได้เอียง (Toe in) เหมือนการฟังลำโพงบ้านที่แยกตู้ซ้าย, ตู้ขวา ออกจากกัน จึงทำให้เสียงบาน, แบน, ฟุ้ง ซึ่งตรงนี้ก็คงต้องอโหสิ เพราะความเป็นรูปลักษณ์อย่าง Sound Bar ที่ดอกซ้าย, ขวา หน้าติดตั้งได้ห่างแค่นี้ และเป็นตู้เดียวกัน มันก็คงทำได้แค่นี้

            สรุป ถามว่า Sound Bar น่าเล่น (ใช่) ไหม?

            คำตอบ อยู่ที่จุดมุ่งหมายของคุณ ถ้าคุณไม่ใช่นักฟังหูทอง หรือพิถีพิถันมาก เอาแค่ให้เสียงดีกว่าที่ได้จากตัวจอ LCD, Plasma เองพอสมควรก็พอแล้ว อีกทั้งไม่ต้องการอะไรที่วุ่นวาย เกะกะตา อย่างนี้ Sound Bar ก็ใช่เลย

            แต่ถ้าคุณเน้นคุณภาพสุ้มเสียง, มิติเสียง ผู้เขียนคิดว่า เล่นเป็นชุดโฮมเธียเตอร์ อย่างน้อยแบบแยก 5 ลำโพงเล็ก (Satellite) บวกตู้ซับ มีภาคขยายอยู่ในตู้ซับครบทุก Ch อย่างนั้นจะเข้าท่ากว่า แถมสามารถสลับขั้วสายลำโพงบวก-ลบ ให้ตรงเฟสของหนังแต่ละเรื่องได้ด้วย

            หรือมีทุนอีกหน่อย ก็เล่นแบบนี้แต่เพิ่มรีซีฟเวอร์เซอราวด์อีกเครื่อง เดี๋ยวนี้ทั้งชุด (ลำโพง Satellite บวกตู้ซับ บวกรีซีฟเวอร์) ขายกันตั้งแต่ 14,000 - 20,000 บาท

            แต่ก็คงเดินสาย, หาที่วางลำโพง, เครื่องรีซีฟเวอร์กันวุ่นวาย

            ความจริง จริงๆ แล้ว หาชุดมินิคอมโป 2.1Ch สักชุดที่เข้าท่า ราคาไม่กี่พันบาท (มีตู้กลาง, แหลม), มีตู้ซับ, มีแอมป์ในตัวตู้ซับ 3 Ch มาฟังแบบ 2 Ch โดยเลือกเสียงที่เครื่องเล่น DVD หรือ Bluray ไปที่ LT, RT (ไม่ใช่ Stereo) แล้วต่อเสียง 2 Ch จากเครื่องเล่นมายังชุดนี้ วางลำโพงแบบ Toe In จูนดีๆ เดินสายดีๆ ถูกต้อง จะได้เสียงเหมือนเซอราวด์ได้ (อย่างน้อยก็ 85%) จาก 2 Ch ธรรมดาๆ นี่แหละ เสียงลอยอยู่เหนือศีรษะ วิ่งจากหน้ามาหลัง หรือจากหลังไปหน้าได้ บรรยากาศห่อหุ้มรอบตัวเราได้ ซึ่งที่ห้องนอนผู้เขียนก็เล่นอย่าง 2.1Ch นี้แหละ และได้น้องๆ เซอราวด์เลย

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459